วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2568) เวลา 08.30 น. นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ให้เกียรติบรรยายพิเศษหัวข้อ การพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ในการฝึกอบรมหลักสูตร การพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ครั้งที่ 1 ณ ห้องถ่ายทอดออนไลน์ ชั้น 3 อาคารส่งเสริมการเกษตรเบญจสิริกิติ์ กรมส่งเสริมการเกษตร บุคคลเป้าหมายประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร และนักวิชาการเกษตร จากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร/ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์ขยายพันธุ์พืช สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ จำนวน 270 คน วิทยากรและผู้ดำเนินการจัด จำนวน 8 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 278 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกิดการสร้างและปรับกระบวนทัศน์ในการทำงานส่งเสริมการเกษตร เรียนรู้เรื่องวิทยาการผลิตพืช (Crop Production) การบริหารจัดการทางการเงินในครัวเรือน นอกจากนี้ ยังเรียนรู้การจัดทำแผนพัฒนาตนเอง (Individual Development Plan : IDP) สำหรับนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ

โอกาสนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึง 3 ประเด็นสำคัญที่บุคลากรกรมส่งเสริมการเกษตรต้องพัฒนาตนเองเพื่อให้เป็นนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ได้แก่

   1. การติดตามสถานการณ์รอบตัว ข่าวสาร ความเปลี่ยนแปลงในสังคม สิ่งที่เป็นกระแส เพื่อนำข้อมูลมาปรับใช้กับการปฏิบัติงาน

   2. การเรียนรู้ในทักษะใหม่ๆที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน ทั้งทักษะด้านดิจิทัล ทักษะด้านการคิดเชิงระบบ ทักษะการบูรณาการงานส่งเสริมการเกษตรร่วมกับงานอื่นๆ

   3. การพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองให้เป็นไปตามสมรรถนะตามมาตรฐานกำหนดของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ซึ่งกำหนดโดยสำนักงาน ก.พ.ซึ่งมีการกำหนดไว้ 4 ด้าน ซึ่งในแต่ละด้านมีข้อสำคัญที่นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพต้องรับทราบและพัฒนาตนเองตามกรอบได้ ได้แก่

       3.1 ด้านการปฏิบัติการ ต้องมีการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร เช่น ข้อมูลด้าน สภาพอากาศ Climate Change ภัยพิบัติ ภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการผลิต ระบบเกษตรกรรม เครือข่ายการพัฒนา โดยนำข้อมูลที่มีทั้งด้านสถิติเดิม ข้อมูลใหม่นำมาวิเคราะห์ร่วมกันแล้วนำมาใช้ในงานได้

       3.2 ด้านการวางแผน นำข้อมูลที่วิเคราะห์แล้วนำมาวางแผนการทำงานแก้ปัญหาในการปฏิบัติงาน

       3.3 ด้านการประสานงาน ทำงานร่วมกันกับหน่วยงาน เครือข่าย เพื่อพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรได้

       3.4 ด้านการบริการ สามารถให้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรบนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการที่เหมาะสมได้ ทั้งด้านเทคโนโลยี ข้อมูลการจัดการป้องกัน พัฒนาด้านการเกษตรที่สอดคล้องกับแนวทางยุทธศาสตร์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Digital ต่างๆ เพื่อส่งองค์ความรู้ และเทคโนโลยีผ่านกระบวนการส่งเสริมการเกษตรูปแบบใหม่ได้ ทั้งนี้โลกได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรต้องมีการปรับตัวให้ทัน เมื่อข้อมูลเดิม วิธีการทำงานเดิมอาจใช้ไม่ได้ผล นวส.ยุคใหม่ต้องพัฒนาตนเอง อ่าน เขียน เรียน คิด สุ จิ ปุ ลิ เพื่อให้เป็นนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพอย่างแท้จริง และขอส่งกำลังใจให้กับนวส.ทุกคนในการปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมการเกษตรอีกด้วย