เมื่อวันอังคารที่ 5 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 น.นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิด การฝึกอบรมหลักสูตร การพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 ณ ห้องถ่ายทอดออนไลน์ ชั้น 3 อาคารส่งเสริมการเกษตรเบญจสิริกิติ์ บุคคลเป้าหมายประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร และนักวิชาการเกษตร จากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร/ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ จำนวน 270 คน โครงการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ จัดขึ้นเพื่อพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรให้สามารถทำหน้าที่ในพื้นที่ และชุมชน ปรับวิธีคิด วิธีการทำงาน มีเป้าหมายสำคัญ คือ มีทัศนคติที่ดีในการทำงานส่งเสริมการเกษตรกับพื้นที่ การนำเครื่องมือที่ใช้ในงานส่งเสริมการเกษตรมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้ด้วยความมั่นใจ เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ เพื่อส่งเสริม พัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้
โดยรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงความสำคัญของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ซึ่งเป็นสายงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร ภายใต้ชื่อโครงการ การพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ดังนั้นทุกคนจึงต้องเป็นมืออาชีพ มีความรู้ เรื่อง คน พื้นที่ สินค้า ทำงานเชื่อมโยงทุกมิติ มีความสามารถคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิชาการ ในฐานะของผู้บริหารมีความคาดหวังให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดสรรเวลา บริหารคน บริหารงบประมาณ บริหารงาน ทั้งงานหลักและงานมอบหมาย ตลอดจนตระหนักถึงบริบทของความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ทั้งมิติสังคม ชุมชน สภาพแวดล้อม เกษตรกร ผลงานความสำเร็จของนักส่งเสริมการเกษตรในอดีตเป็นสิ่งที่เราเก็บเป็นความภาคภูมิใจ แต่ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องเข้าใจ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ภายใต้ความแตกต่างที่เกิดจากปัจจัยภายนอกและภายในส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานทั้งสิ้น จึงต้องปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการ เรียนรู้ และพัฒนาตนเอง เพิ่มความรู้ ทักษะ สมรรถนะ เทคนิคการปฏิบัติงาน ทักษะดิจิทัล ความรู้ทางการตลาด นวัตกรรมใหม่ๆที่สามารถนำมาส่งเสริมและปรับใช้กับงานส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรได้รับการพัฒนาให้มีความเข้มแข็ง เป็น Smart Farmer และเติบโตขึ้นสู่การเป็น Smart Group เสริมสร้างแนวคิด ทักษะใหม่ๆให้กับเกษตรกร อาทิ Growth Mindset Digital Skill ปรับรูปแบบ พัฒนาสินค้า พัฒนาการตลาด นำนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้ เน้นย้ำให้ทุกคนต้องมีการพัฒนาตนเอง เพื่อการพัฒนาเกษตรกร พัฒนางานส่งเสริมการเกษตร ให้สามารถก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงได้ ขอให้ทุกคนปฎิบัติงานด้วยความสุข ไม่มีภาวะ Toxic Workplace บรรยากาศการทำงานที่ดี นำพาให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานที่ดี ท้ายนี้ขอขอบคุณวิทยากร ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมและผู้ดำเนินการจัด มา ณ ที่นี้ ขอให้การฝึกอบรมในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการ